มือถือ: 094 864 9799



ใบกำกับภาษี-(Tax-Invoice)

ใบกำกับภาษี (Tax Invoice) คือ เอกสารหลักฐานสำคัญ ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มจะต้องจัดทำ และออกใบกำกับภาษีให้กับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการทุกครั้งที่มีการขายสินค้าหรือให้บริการ เพื่อแสดงมูลค่าของสินค้าหรือบริการ และจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนเรียกเก็บหรือพึงเรียกเก็บจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการในแต่ละครั้ง

ประเภทของใบกำกับภาษี
1. ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแบบ 
2. ใบกำกับภาษีอย่างย่อ 
3. ใบเพิ่มหนี้ 
4. ใบลดหนี้ 
5. ใบเสร็จรับเงินที่ส่วนราชการออกให้ในการขายทอดตลาดหรือโดยวิธีอื่นตามมาตรา 83/5
6. ใบเสร็จรับเงินของกรมสรรพากรที่ออกให้สำหรับการชำระภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/6 หรือมาตรา 83/7 (มาตรา 86/14)
7. ใบเสร็จรับเงินของกรมศุลกากร หรือกรมสรรพสามิต ออกให้ในการเรียกเก็บ ภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อกรมสรรพากร (มาตรา 86/14)

ในบทความนี้จะกล่าวถึงเฉพาะประเภทใบกำกับภาษีตามข้อ 1 ถึง ข้อ 4 ดังนี้

1. ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป

ผู้ประกอบการจดทะเบียนโดยทั่วไป มีหน้าที่ต้องออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือบริการ (เว้นแต่ผู้ประกอบกิจการค้าปลีกซึ่งมีสิทธิออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ) โดยใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแบบต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้

1. คำว่า “ใบกำกับภาษี” ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด

ในกรณีผู้ประกอบการต้องการจะจัดทำใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแบบรวมกับเอกสารทางการค้าอื่น เช่น ใบเสร็จรับเงิน ใบส่งของ ใบแจ้งหนี้ ซึ่งมีจำนวนหลายฉบับอยู่ในชุดเดียวกัน และใบกำกับภาษีนั้นไม่ใช่เอกสารฉบับแรกของเอกสารดังกล่าว ให้ในใบกำกับภาษีและสำเนาใบกำกับภาษีของเอกสารชุดดังกล่าว จะต้องมีข้อความว่า “เอกสารออกเป็นชุด” ไว้ด้วยและในสำเนาของใบกำกับภาษี จะต้องมีข้อความว่า “สำเนาใบกำกับภาษี” ไว้ด้วย ข้อความว่า “เอกสารออกเป็นชุด” และ “สำเนาใบกำกับภาษี” จะต้องตีพิมพ์ขึ้นหรือจัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ในกรณีจัดทำใบกำกับภาษีขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทั้งฉบับ จะประทับด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด หรือกระทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นในลักษณะทำนองเดียวกันไม่ได้

2. รายการคำว่า “ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการ จดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี”

ก.ชื่อของผู้ออกใบกำกับภาษี หมายถึง ชื่อผู้ประกอบการตามที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือชื่อสถานประกอบการตามที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือชื่อการค้าของสถานประกอบการตามที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ชื่อของผู้ออกใบกำกับภาษีจะใช้ชื่อย่อไม่ได้ ยกเว้นกรณีชื่อผู้ออกใบกำกับภาษีหรือผู้รับใบกำกับภาษีที่มีสถานะเป็นนิติบุคคล คำที่บอกสถานะสามารถใช้คำย่อแทนได้ ดังนี้

– บริษัท จำกัด ใช้คำย่อว่า บ. … จก. หรือ บจ.
– บริษัท (มหาชน) จำกัด ใช้คำย่อว่า บมจ. …
– ห้างหุ้นส่วนจำกัด ใช้คำย่อว่า หจก. …
– ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล ใช้คำย่อว่า หสน. …

ข. ที่อยู่ของผู้ออกใบกำกับภาษี หมายถึง ที่ตั้งของสถานประกอบการตามที่ได้ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20) ไว้ดังนี้
– กรณีสถานประกอบการตามที่ได้จดทะเบียนไว้ในทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20) ของผู้ขายสินค้าหรือให้บริการเป็นสำนักงานใหญ่ให้ระบุข้อความคำว่า “สำนักงานใหญ่” หรือระบุคำย่อที่แสดงได้ว่าเป็นสำนักงานใหญ่ เช่น “สนญ.” “HO” “HQ” เป็นต้น หรือระบุเป็นตัวเลขศูนย์จำนวนห้าหลัก (00000) เพื่อแสดงว่าตัวเลขศูนย์จำนวนห้าหลัก (00000) เป็นรหัสของสำนักงานใหญ่ ไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าวด้วย ข้อความ จะตีพิมพ์ หรือจัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ประทับด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด ก็ได้

– กรณีสถานประกอบการตามที่ได้จดทะเบียนไว้ในใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20) ของผู้ขายสินค้าหรือให้บริการเป็นสาขา ให้ระบุข้อความคำว่า “สาขาที่ …” โดยเลขที่ของสาขา ให้ระบุเลขที่สาขาตามที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ เช่น “สาขาที่ …” “Branch No. …” “br.no …”เป็นต้น หรือระบุเป็นตัวเลขจำนวนห้าหลักเพื่อแสดงว่าเป็นรหัสของ “สาขาที่ …” เช่น 00001 ไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าวด้วย ข้อความ จะตีพิมพ์ หรือจัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ประทับด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด ก็ได้ 

ค. เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ออกใบกำกับภาษี
ใช้เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร 13 หลัก โดยการใช้เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร 13 หลักดังนี้ 1. ผู้เสียภาษีประเภทบุคคลธรรมดา ให้ใช้เลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก 2. ผู้เสียภาษีประเภทนิติบุคคลไทย หรือนิติบุคคลต่างประเทศ ให้ใช้เลขทะเบียนนิติบุคคล 3. ผู้เสียภาษีที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามข้อ 1 และข้อ 2 ให้ใช้เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร 13 หลัก ที่กรมสรรพากรออกให้

3. รายการ “ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ”

ก. “ชื่อ” ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ หมายถึง ชื่อผู้ประกอบการตามที่ได้ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือชื่อสถานประกอบการ หรือชื่อการค้าของสถานประกอบการตามที่ได้ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีบุคคลธรรมดานั้นรวมถึงนามสกุลด้วย
ข. “ที่อยู่ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ” หมายถึง ที่ตั้งของสถานประกอบการ ตามที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ดังนี้

–  กรณีสถานประกอบการตามที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการเป็นสำนักงานใหญ่ ให้ระบุข้อความคำว่า “สำนักงานใหญ่” หรือระบุคำย่อที่แสดงได้ว่าเป็นสำนักงานใหญ่ เช่น “สนญ.” “HO” “HQ” เป็นต้น หรือระบุเป็นตัวเลขศูนย์จำนวนห้าหลัก (00000) เพื่อแสดงว่าตัวเลขศูนย์จำนวนห้าหลัก (00000) เป็นรหัสของสำนักงานใหญ่ไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าวด้วย โดยข้อความจะตีพิมพ์ หรือจัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ประทับด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด หรือทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้

– กรณีสถานประกอบการตามที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการเป็นสาขา ให้ระบุข้อความคำว่า “สาขาที่ …”โดยเลขที่ของสาขาให้ระบุเลขที่สาขาตามที่ได้ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น สาขาที่ 1 สาขาที่ 01 เป็นต้น หรือระบุเป็นตัวเลขจำนวนห้าหลักตามที่ปรากฏในใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเพื่อแสดงว่าเป็นรหัสของ “สาขาที่ …” เช่น 00001 ไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าวด้วยโดยข้อความ จะตีพิมพ์ หรือจัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ประทับด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด หรือทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการ
อื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้

หมายเหตุ
1. ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ต้องระบุ เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการไว้ในใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป เฉพาะกรณีผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเท่านั้น ถ้าผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการไม่ได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการก็ไม่จำเป็นต้องระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการนั้นไว้ในใบกำกับภาษี

กรณีผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน ได้แจ้งให้ลูกค้าซึ่งเป็นผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการแจ้งรายการเกี่ยวกับเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากร โดยวิธีปิดเป็นประกาศ หรือแจ้งให้ลูกค้าทราบเป็นการทั่วไปหรือเป็นรายบุคคล หรือแจ้งโดยวิธีการอื่นใด แล้วหากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ ซึ่งเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ได้แจ้งรายการเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรให้ทราบ หรือแจ้งว่าไม่ได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม และผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการได้ออกใบกำกับภาษีโดยไม่ระบุเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการไว้ในใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป ถือได้ว่าผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการมิได้มีเจตนาที่ออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปที่มีรายการไม่ครบถ้วนตามกฎหมายแต่อย่างใด

2. ถ้าผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการมิได้แจ้งรายการเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรและรายการเกี่ยวกับสถานประกอบการดังกล่าวและได้รับใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปซึ่งไม่มีรายการดังกล่าวนั้น ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีนั้นก็จะเป็นภาษีซื้อต้องห้าม ไม่สามารถนำไปใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มได้ และถ้าการที่ไม่ได้แจ้งรายการดังกล่าวนั้นมีเจตนาที่จะหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากรก็จะต้องรับผิดตามกฎหมายต่อไป

3. กรณีผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการไม่ได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ก็ไม่ต้องแจ้งเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของตนเองให้แก่ผู้ขายสินค้าหรือผู้ให้บริการแต่อย่างใด

4. รายการ “หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเลขของเล่ม ถ้ามี”

ใบกำกับภาษีที่ไม่มีหมายเลขลำดับไม่ให้นำไปคำนวณเป็นภาษีซื้อ และในกรณีนี้ผู้ออกใบกำกับภาษีมีความผิด โดยมีรายการในส่วนที่เป็นสาระสำคัญไม่ครบถ้วน ปรับไม่เกิน 2,000 บาท

5. รายการ “ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ”

ชื่อ ชนิด ประเภท ของสินค้าหรือของบริการให้ระบุเฉพาะชื่อ ชนิด ประเภทของสินค้าหรือของบริการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในใบกำกับภาษี เว้นแต่ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องระบุชื่อ ชนิด ประเภทของสินค้าหรือของบริการที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในใบกำกับภาษีด้วยให้ทำได้โดยต้องจัดให้มีเครื่องหมายหรือแยกรายการแสดงให้เห็นชัดเจนว่าเป็นสินค้าหรือบริการที่ไม่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม

6. รายการ “จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ โดยให้แยกออกจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการให้ชัดแจ้ง”

7. รายการ “วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี”

วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี กำหนดให้ต้องมีในใบกำกับภาษี และเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงวันที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น คือ เป็นวันที่ได้มีการส่งมอบสินค้า โอนกรรมสิทธิ์ในสินค้าให้กับผู้ซื้อ ได้มีการใช้บริการนั้นไม่ว่าโดยตนเองหรือบุคคลอื่น ได้รับชำระค่าสินค้าหรือบริการ หรือวันที่ออกใบกำกับภาษี โดยวัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี จะใช้ตัวเลขแทนการระบุชื่อเดือนก็ได้ และใช้พุทธศักราช (พ.ศ.) หรือคริสต์ศักราช (ค.ศ.) ก็ได้

วิธีการจัดทำรายการของใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป

1. รายการในใบกำกับภาษีให้ทำเป็นภาษาไทย หรือจัดทำเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษในฉบับเดียวกันก็ได้ ถ้าจะทำเป็นภาษาต่างประเทศอื่นต้องขออนุมัติต่ออธิบดีกรมสรรพากร
2. หน่วยเงินตราในใบกำกับภาษีต้องเป็นหน่วยเงินตราไทย และใช้ตัวเลขไทยหรืออารบิค ถ้าจะจัดทำเป็นหน่วยเงินตราต่างประเทศต้องขออนุมัติต่ออธิบดีกรมสรรพากร
3. ใบกำกับภาษีอาจออกรวมกันสำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการหลายอย่างก็ได้
4. ใบกำกับแบบเต็มรูป ต้องมีรายการครบถ้วน
5. รายการในใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป จะต้องไม่มีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นการขีด ฆ่า ขูด ลบ โดยยางลบ หรือใช้ยาหมึก ตกแต่ง ต่อเติม หากมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลง ภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีดังกล่าวถือเป็นภาษีซื้อต้องห้าม

2. ใบกำกับภาษีอย่างย่อ
1. ผู้มีสิทธิออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ
ได้แก่ ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประกอบกิจการขายสินค้าในลักษณะขายปลีก หรือให้บริการในลักษณะบริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมากผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประกอบกิจการค้าปลีก มีสิทธิออกใบกำกับภาษีอย่างย่อได้ แต่ตัวแทนของผู้ประกอบการจดทะเบียนจะออกใบกำกับภาษีอย่างย่อไม่ได้

2. การประกอบกิจการขายสินค้าในลักษณะขายปลีก หรือการให้บริการในลักษณะรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก
ที่สามารถออกใบกำกับภาษีอย่างย่อได้ ต้องมีลักษณะดังนี้

2.1 เป็นการขายสินค้าที่ผู้ขายทราบโดยชัดแจ้งว่าเป็นการขายให้แก่ผู้บริโภคโดยตรง และได้ขายในปริมาณซึ่งตามปกติวิสัยของผู้บริโภคนั้นจะนำสินค้าไปใช้บริโภค หรือใช้สอยโดยมิได้มีวัตถุประสงค์ที่จะนำไปขายต่อไป เช่น การขายสินค้าของกิจการแผงลอย กิจการขายของชำ กิจการขายยา กิจการจำหน่ายน้ำมัน และกิจการห้างสรรพสินค้า ทั้งนี้ เฉพาะในการขายสินค้าที่เป็นไปตามลักษณะและหรือเงื่อนไขดังกล่าวข้างต้น

2.2 การให้บริการในลักษณะบริการรายย่อยแก่บุคคลจำนวนมาก เช่น การให้บริการของกิจการภัตตาคาร กิจการโรงแรม กิจการซ่อมแซมทุกชนิด กิจการโรงภาพยนตร์ และกิจการสถานีบริการน้ำมัน เป็นต้น

กิจการภัตตาคาร ได้แก่ กิจการขายอาหารหรือเครื่องดื่มไม่ว่าชนิดใดๆ รวมทั้งกิจการรับจ้างปรุงอาหารหรือเครื่องดื่ม ทั้งนี้ ไม่ว่าในหรือนอกสถานที่ซึ่งจัดไว้ให้ประชาชนเข้าไปบริโภคได้

ผู้ประกอบการตาม 2.1 และ 2.2 ต้องจัดทำใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป พร้อมทั้งสำเนาใบกำกับภาษีสำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการทุกครั้งที่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการเรียกร้อง พร้อมทั้งส่งมอบใบกำกับภาษีดังกล่าวให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ

การเป็นผู้ประกอบการค้าปลีกที่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีอย่างย่อนั้น หากเข้าลักษณะเป็นกิจการค้าปลีกแล้ว มีสิทธิออกใบกำกับภาษีอย่างย่อได้เลยโดยไม่ต้องขออนุมัติต่ออธิบดีกรมสรรพากร

3. รายการของใบกำกับภาษีอย่างย่อ

ใบกำกับภาษีอย่างย่อ ต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้
(1) คำว่า “ใบกำกับภาษีอย่างย่อ” ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด (ต้องระบุว่า “ใบกำกับภาษีอย่างย่อ”)
(2) ชื่อหรือชื่อย่อและเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี
(3) หมายเลขลำดับของใบกำกับ และหมายเลขลำดับของเล่ม (ถ้ามี)
(4) ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ โดยชื่อและชนิดหรือประเภทของสินค้าจะออกเป็นรหัสก็ได้ โดยผู้ประกอบการ จดทะเบียนจะต้องแจ้งรหัสให้อธิบดีทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 15 วันก่อนวันใช้รหัสนั้น
(5) ราคาสินค้าหรือราคาค่าบริการ โดยต้องมีข้อความระบุชัดเจนว่า ได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้ว
(6) วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี
(7) ข้อความอื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด

วิธีการจัดทำรายการของใบกำกับภาษีอย่างย่อ

1. รายการในใบกำกับภาษีอย่างย่อให้ทำเป็นภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ เป็นหน่วยเงินตราไทยและใช้ตัวเลขไทยหรืออารบิค เว้นแต่ในกิจการบางประเภทที่มีความจำเป็นต้องทำเป็นภาษาต่างประเทศอื่นที่มิใช่เป็นภาษาอังกฤษ ให้กระทำได้เมื่อได้รับอนุมัติจากอธิบดี

2. การจัดทำรายการของใบกำกับภาษีอย่างย่อ กฎหมายไม่ได้เคร่งครัดอย่างการจัดทำใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป เนื่องจากภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีอย่างย่อเป็นภาษีซื้อต้องห้าม ดังนั้น จึงสามารถขีด ฆ่า ขูด ลบ ตกแต่ง ต่อเติม หรือแก้ไขให้ถูกต้องได้โดยไม่ผิดต่อบทบัญญัติของกฎหมาย และกรณีที่มีรายการอื่นนอกเหนือจากที่กฎหมายกำหนดให้ต้องมีในใบกำกับภาษีอย่างย่อก็สามารถกระทำได้ เช่น ใบกำกับภาษีอย่างย่อบางฉบับ นอกจากรายการตามที่กฎหมายกำหนด ยังมีรายการราคาสินค้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่แยกออกจากกันก็สามารถมีได้

ข้อสังเกต

1. รายการของใบกำกับภาษีอย่างย่อ แตกต่างจากใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแบบ คือ
1.1 ไม่ต้องแสดงชื่อ ที่อยู่ เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
1.2 ชื่อ ชนิด หรือประเภทของสินค้าจะออกเป็นรหัสก็ได้
1.3 จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มให้รวมอยู่ในมูลค่าของสินค้าหรือบริการ โดยต้องหมายเหตุว่าราคาได้รวมภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้ว

2. ผู้ประกอบการจดทะเบียน ซึ่งมีสิทธิออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ หากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการเรียกร้องใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแบบผู้ประกอบการค้าปลีกจะต้องออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ

3. ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งได้รับใบกำกับภาษีอย่างย่อจะนำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีอย่างย่อไปหักออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ได้ แต่หากผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งเป็น ผู้ซื้อสินค้าหรือเป็นผู้รับบริการ ประสงค์จะนำภาษีซื้อไปคำนวณภาษีหักออกจากภาษีขาย ก็ให้เรียกร้องเอาใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปได้ตาม 2.

การใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ

ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประกอบกิจการค้าปลีก ซึ่งประสงค์จะใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงิน เพื่อออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ ให้ยื่นคำขออนุมัติต่ออธิบดี และการใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินดังกล่าว จะต้องปฏิบัติตามระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงิน ที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด (ศึกษารายละเอียดได้จากประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 46) ลงวันที่ 29 มีนาคม 2536)

คำขออนุมัติให้ยื่นตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด โดยจะต้องแนบเอกสารและรายการดังต่อไปนี้พร้อมกับคำขออนุมัติ
1. คุณสมบัติโดยย่อของเครื่องบันทึกการเก็บเงิน
2. รายละเอียดรุ่น ยี่ห้อ หมายเลขประจำเครื่อง (Serial Number) และจำนวนเครื่องบันทึกการเก็บเงินที่ขออนุมัติ
3. แผนผังแสดงตำแหน่งการวางเครื่องบันทึกการเก็บเงิน
4. ในกรณีที่มีการต่อเชื่อมเครื่องบันทึกการเก็บเงินเข้ากับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์หรืออุปกรณ์อื่น ให้แสดงแผนผังระบบการต่อเชื่อมดังกล่าวด้วย
5. ตัวอย่างใบกำกับภาษีอย่างย่อ และตัวอย่างรายงานการขายสินค้าหรือการให้บริการประจำวันที่ออกด้วยเครื่องบันทึกการเก็บเงิน

โดยต้องยื่นต่ออธิบดีกรมสรรพากรผ่านสรรพากรพื้นที่ในเขตท้องที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่มีสถานประกอบการหลายแห่งให้ยื่นผ่านสรรพากรพื้นที่ในเขตท้องที่ที่สถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ โดยต้องยื่นคำขออนุมัติเป็นรายสถานประกอบการ และกรณีผู้ประกอบการที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่ ให้ยื่นคำขออนุมัติผ่านผู้อำนวยการสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่

การใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินเพื่อออกใบกำกับภาษีอย่างย่อ เป็นความสะดวกของผู้ประกอบการฯ ที่ไม่ต้องมีภาระในการเขียน หรือพิมพ์ใบกำกับภาษี โดยเฉพาะกิจการค้าปลีกซึ่งขายสินค้าหรือให้บริการแก่บุคคลจำนวนมาก และยังง่ายต่อการควบคุมตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ด้วย

อย่างไรก็ดี การใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 46) ลงวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ. 2536ทั้งนี้ จะต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรก่อนจึงจะใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินได้ มิฉะนั้น มีความผิดตามมาตรา 90/3(2) แห่งประมวลรัษฎากร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

3.ใบเพิ่มหนี้   
ข้อ 1  ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่มีสิทธิออกใบเพิ่มหนี้ จะต้องเข้าเงื่อนไขดังต่อไปนี้
1.1 เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนที่คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
1.2 มีการขายสินค้าหรือให้บริการโดยได้ออกใบกำกับภาษีแล้ว
1.3  ภายหลังได้ออกใบกำกับภาษีแล้ว  มีการเพิ่มราคาสินค้าที่ขายเนื่องจากสินค้าเกินกว่าจำนวนที่ตกลงซื้อขายกัน คำนวณราคาสินค้า

ผิดพลาดต่ำกว่าที่เป็นจริง  หรือมีการเพิ่มราคาค่าบริการเนื่องจากให้บริการเกินกว่าข้อกำหนดที่ตกลงกัน คำนวณราคาค่าบริการผิดพลาดต่ำกว่าที่เป็นจริง อย่างหนึ่งอย่างใดเกิดขึ้นซึ่งเป็นสาเหตุให้ภาษีขายที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการมีจำนวนเพิ่มขึ้นไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

ข้อ 2 ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียน ออกใบเพิ่มหนี้ให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการได้ในเดือนภาษีที่มีเหตุการณ์ตามข้อ 1.3  เกิดขึ้น เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นไม่สามารถออกใบเพิ่มหนี้ได้ทันในเดือนภาษีที่มีเหตุการณ์ตามข้อ 1.3 เกิดขึ้น ก็ให้ออกใบเพิ่มหนี้ให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการในเดือนภาษีถัดจากเดือนที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น

ข้อ 3 ใบเพิ่มหนี้ต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้
3.1 คำว่า “ใบเพิ่มหนี้” ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด
3.2 ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบเพิ่มหนี้ และในกรณีที่ตัวแทนเป็นผู้ออกใบเพิ่มหนี้ในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนตามมาตรา 86 วรรคสี่ หรือมาตรา 86/2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้ระบุชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของตัวแทนนั้นด้วย
3.3 ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
3.4 วัน เดือน ปี ที่ออกใบเพิ่มหนี้
3.5 หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษีเดิม รวมทั้งหมายเลขลำดับของเล่ม ถ้ามี มูลค่าของสินค้าหรือบริการที่แสดงไว้ในใบกำกับภาษี ดังกล่าว มูลค่าที่ถูกต้องของสินค้าหรือบริการ ผลต่างของจำนวนมูลค่าทั้งสองและจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่เรียกเก็บเพิ่มสำหรับส่วนต่างนั้น (มูลค่าของสินค้าหรือบริการ หมายความถึงมูลค่ารวมทั้งหมดตามใบกำกับภาษีที่เป็นเหตุให้มีการเพิ่มหนี้ มูลค่ารวมทั้งหมดที่ถูกต้อง มูลค่ารวมทั้งหมดของส่วนต่าง และจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่เรียกเก็บเพิ่มสำหรับส่วนต่าง)
3.6 คำอธิบายสั้น ๆ ถึงสาเหตุในการออกใบเพิ่มหนี้ โดยสาเหตุในการออกใบเพิ่มหนี้ ให้แสดงเฉพาะสาเหตุและรายการสินค้าหรือบริการที่คลาดเคลื่อนเท่านั้น โดยรายการตามข้อ 3.1 -3.6 จะตีพิมพ์ จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ประทับด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด หรือทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้

ข้อ 4  ผู้ประกอบการจดทะเบียน สามารถออกใบเพิ่มหนี้ 1 ฉบับ โดยอ้างถึงใบกำกับภาษีเดิมมากกว่า 1 ฉบับก็ได้ และรายการตามข้อ 3.5-3.6 ผู้ประกอบการจดทะเบียนสามารถใช้เอกสารแนบใบเพิ่มหนี้อ้างถึงใบกำกับภาษีเป็นรายใบกำกับภาษีก็ได้              

ข้อ 5  ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียน นำภาษีขายที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการที่เพิ่มขึ้นตามใบเพิ่มหนี้ไปลงรายงานภาษีขาย โดยถือเป็นภาษีขายของตนในเดือนภาษีที่ออกใบเพิ่มหนี้ ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้รับใบเพิ่มหนี้ โดยได้รับใบเพิ่มหนี้ในเดือนภาษีอื่นที่มิใช่เดือนภาษีที่ระบุไว้ในใบเพิ่มหนี้ ให้นำภาษีมูลค่าเพิ่มที่ปรากฏตามใบเพิ่มหนี้ไปลงรายงานภาษีซื้อโดยถือเป็นภาษีซื้อของตนในเดือนภาษีที่ได้รับใบเพิ่มหนี้  

ข้อ 6  ผู้ประกอบการจดทะเบียน ออกใบเพิ่มหนี้ โดยมีรายการในส่วนที่เป็นสาระสำคัญไม่ครบถ้วนตามข้อ 3 มีความผิดต้องระวางโทษตามมาตรา 90 (12) แห่งประมวลรัษฎากรผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้รับใบเพิ่มหนี้จากผู้ประกอบการจดทะเบียนตามวรรคหนึ่ง มีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบเพิ่มหนี้ไปถือเป็นภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร  

คลิกเพื่อดูตัวอย่างใบเพิ่มหนี้

4.ใบลดหนี้

ข้อ 1  ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่มีสิทธิออกใบลดหนี้ จะต้องเข้าเงื่อนไขดังต่อไปนี้
1.1  เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนที่คำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
1.2 มีการขายสินค้าหรือให้บริการโดยได้ออกใบกำกับภาษีแล้ว
1.3 ภายหลังได้ออกใบกำกับภาษีแล้วได้มีเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้นเป็นสาเหตุให้ภาษีขายที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการมีจำนวนลดลงไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนดังนี้
– การลดราคาสินค้าที่ขายเนื่องจากสินค้าผิดข้อกำหนดที่ตกลงกัน สินค้าชำรุดเสียหาย หรือขาดจำนวน คำนวณราคาสินค้าผิดพลาดสูงกว่าที่เป็นจริง
– มีการลดราคาค่าบริการเนื่องจากให้บริการผิดข้อกำหนดที่ตกลงกัน บริการขาดจำนวน คำนวณราคาค่าบริการผิดพลาดสูงกว่าที่เป็นจริง 
– ได้รับสินค้าที่ขายกลับคืนมาเนื่องจากสินค้าชำรุดบกพร่อง ไม่ตรงตามตัวอย่าง ไม่ตรงตามคำพรรณนา 
– ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่ต้องจ่ายเงินชดเชยหรือเงินอื่นในลักษณะทำนอง  เดียวกันให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการตามข้อผูกพันในกฎหมาย
– ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้มีการจ่ายคืนเงินจ่ายล่วงหน้าเงินประกัน เงินมัดจำ เงินจอง หรือเงินอื่นที่เรียกเก็บในลักษณะทำนองเดียวกันให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการตามข้อตกลงทางการค้า
– มีการคืนสินค้าหรือแลกเปลี่ยนสินค้าตามข้อตกลงทางการค้าระหว่างผู้ประกอบการจดทะเบียนด้วยกัน
– มีการคืนสินค้าหรือแลกเปลี่ยนสินค้าตามข้อตกลงทางการค้าระหว่างผู้ประกอบการจดทะเบียนและผู้ซื้อสินค้า ทั้งนี้ เฉพาะที่กระทำภายในเวลาอันสมควร
– มีการบอกเลิกสัญญาบริการเนื่องจากการให้บริการบกพร่องหรือให้บริการผิดข้อกำหนดที่ตกลงกัน
– มีการบอกเลิกสัญญาบริการเนื่องจากไม่มีการให้บริการตามสัญญา

ข้อ 2 ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียน ออกใบลดหนี้ให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการได้ในเดือนภาษีที่มีเหตุการณ์ตามข้อ 1.3  เกิดขึ้น เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุจำเป็นไม่สามารถออกใบลดหนี้ได้ทันในเดือนภาษีที่มีเหตุการณ์ตามข้อ 1.3 เกิดขึ้น ก็ให้ออกใบลดหนี้ให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการในเดือนภาษีถัดจากเดือนที่มีเหตุการณ์เกิดขึ้น

ข้อ 3  ใบลดหนี้ต้องมีรายการอย่างน้อยดังต่อไปนี้
3.1 คำว่า “ใบลดหนี้” ในที่ที่เห็นได้เด่นชัด
3.2 ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ออกใบลดหนี้ และในกรณีที่ตัวแทนเป็นผู้ออกใบลดหนี้ในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียนตามมาตรา 86 วรรคสี่ หรือมาตรา 86/2 แห่งประมวลรัษฎากร ให้ระบุชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของตัวแทนนั้นด้วย
3.3 ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ
3.4 วัน เดือน ปี ที่ออกใบลดหนี้
3.5 หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษีเดิม รวมทั้งหมายเลขลำดับของเล่ม ถ้ามี มูลค่าของสินค้าหรือบริการที่แสดงไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าว มูลค่าที่ถูกต้องของสินค้าหรือบริการ ผลต่างของจำนวนมูลค่าทั้งสอง และจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ใช้คืนสำหรับส่วนต่างนั้นในกรณีของใบลดหนี้  ( มูลค่าของสินค้าหรือบริการ หมายความถึงมูลค่ารวมทั้งหมดตามใบกำกับภาษีที่เป็นเหตุให้มีการลดหนี้ มูลค่ารวมทั้งหมดที่ถูกต้อง มูลค่ารวมทั้งหมดของส่วนต่าง และจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ใช้คืนสำหรับส่วนต่าง)
3.6 คำอธิบายสั้น ๆ ถึงสาเหตุในการออกใบลดหนี้ โดยให้แสดงเฉพาะสาเหตุและรายการสินค้าหรือบริการที่คลาดเคลื่อนเท่านั้นโดยรายการตาม ข้อ3.1-3.6 จะตีพิมพ์ จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ประทับด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด หรือทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้

ข้อ 4  ผู้ประกอบการจดทะเบียน สามารถออกใบลดหนี้ 1 ฉบับ โดยอ้างถึงใบกำกับภาษีเดิมมากกว่า 1 ฉบับก็ได้ และรายการตามข้อ 3.5-3.6 ผู้ประกอบการจดทะเบียนสามารถใช้เอกสารแนบใบลดหนี้อ้างถึงใบกำกับภาษีเป็นรายใบกำกับภาษีก็ได้

ข้อ 5  ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียน นำภาษีขายที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการที่ลดลงตามใบลดหนี้ไปลงรายงานภาษีขายโดยนำไปหักออกจากภาษีขายของตนในเดือนภาษีที่ออกใบลดหนี้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้รับใบลดหนี้ โดยได้รับใบลดหนี้ในเดือนภาษีอื่นที่มิใช่เดือนภาษีที่ระบุไว้ในใบเพิ่มหนี้หรือใบลดหนี้ ให้นำภาษีมูลค่าเพิ่มที่ปรากฏตามใบลดหนี้ไปลงรายงานภาษีซื้อโดยนำไปหักออกจากภาษีซื้อของตนในเดือนภาษีที่ได้รับใบลดหนี้

ข้อ 6  ผู้ประกอบการจดทะเบียน ออกใบลดหนี้ โดยมีรายการในส่วนที่เป็นสาระสำคัญไม่ครบถ้วนตามข้อ 3 มีความผิดต้องระวางโทษตามมาตรา 90 (12) แห่งประมวลรัษฎากรผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ได้รับใบลดหนี้ มีสิทธินำภาษีมูลค่าเพิ่มตามใบลดหนี้ไปหักออกจากภาษีซื้อในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ต้องห้ามตามมาตรา 82/5(2) แห่งประมวลรัษฎากร

คลิกเพื่อดูตัวอย่างใบลดหนี
ที่มา: สรรพากร

5/5 - (1 vote)