มือถือ: 094 864 9799



ข้อพิจารณาของผู้ประกอบการที่ต้องการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก่อนรายรับถึง 1.8 ล้านบาทตามที่กฏหมายกำหนด

ข้อพิจารณาของผู้ประกอบการที่ต้องการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก่อนรายรับถึง 1.8 ล้านบาทตามที่กฎหมายกำหนด
     กฎหมายกำหนดว่าผู้ประกอบการที่มีรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการที่เป็นปกติธุระเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี (ในกรณีที่ผู้ประกอบการเป็นบุคคลธรรมดาให้ถือตามปีปฏิทิน และในกรณีที่ผู้ประกอบการเป็นนิติบุคคล ให้นับตามรอบระยะเวลาบัญชี ถ้ารอบระยะเวลาบัญชีไม่ตรงกับปีปฏิทิน) ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีรายรับเกิน 1.8 ล้านบาท ในกรณีที่ผู้ประกอบการมีรายได้เกินกว่า 1.8  ล้านบาท และยังไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ผู้ประกอบการจะต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในส่วนที่เกิน 1.8 ล้านบาท พร้อมทั้งเบี้ยปรับเงินเพิ่มให้แก่สรรพากร จนกว่าจะมีดำเนินการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ตัวอย่างเช่น ผู้ประกอบการมีรายได้ถึง 2 ล้านบาทแต่ยังไม่จดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) รายได้ในส่วนที่เกินมา 2 แสนบาทลูกค้าต้องเป็นผู้เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เป็นเงิน 14,000 บาท พร้อมทั้งเบี้ยปรับเงินเพิ่มให้แก่สรรพากรและจะต้องดำเนินการจด VAT ทันที)

     ทั้งนี้สรรพากรอนุญาตให้ผู้ประกอบการขอใช้สิทธิเลือกจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่เริ่มประกอบกิจการ ถึงแม้มีรายได้ไม่ถึง 1.8 ล้านบาทในการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่เริ่มประกอบกิจการผู้ประกอบการมีข้อควรพิจารณาดังต่อไปนี้

  1. ผู้ประกอบการควรพิจารณาว่าคู่ค้า หรือลูกค้าส่วนใหญ่ของผู้ประกอบการเป็นบุคคลธรรมดา หรือนิติบุคคลที่มีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากถ้าลูกค้าของผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นบุคคลธรรมดาจะไม่ได้ต้องการภาษีซื้อ (VAT ซื้อ) จากทางผู้ประกอบการ การที่ผู้ประกอบการจดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ในตอนเริ่มประกอบกิจการ ก็จะทำให้ราคาสินค้าของผู้ประกอบการแพงกว่าราคาสินค้าผู้ประกอบการรายอื่นที่ไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ร้อยละ 7 แต่ถ้าในกรณีที่ลูกค้าของผู้ประกอบการส่วนใหญ่เป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ลูกค้าของผู้ประกอบการดังกล่าวนั้นก็จะต้องการซื้อสินค้า หรือบริการกับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเช่นกัน เพราะต้องการใบกำกับภาษีซื้อ เพื่อนำภาษีซื้อ (VAT ซื้อ) จากผู้ประกอบการไปหักภาษีขาย (VAT ขาย) ของตน ดังนั้นทางผู้ประกอบการอาจจำเป็นต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ตั้งแต่เริ่มประกอบกิจการแม้จะยังมีรายได้ไม่ถึง 1.8 ล้านบาท              
  2. บางกิจการ ในช่วงก่อนประกอบกิจการ หรือช่วงเริ่มประกอบกิจการนั้นมีความจำเป็นต้องซื้อสินค้าหรือบริการจากผู้ขายสินค้า (Supplier) หรือผู้ให้บริการที่มีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือมีการดำเนินการเพื่อเตรียมประกอบกิจการ เช่น การก่อสร้างโรงงาน ก่อสร้างอาคารสำนักงาน หรือการติดตั้งเครื่องจักร โดยที่ผู้ขายหรือผู้ให้บริการแก่ผู้ประกอบการ มีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ถ้าผู้ประกอบการมีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) แล้ว ผู้ประกอบการก็สามารถนำภาษีซื้อมาหักภาษีขายได้ ในเดือนภาษี แต่ถ้าผู้ประกอบการไม่มีการขายเลยหรือมีการขายน้อยกว่าซื้อ ก็สามารถขอคืนส่วนต่างเป็นเงินสดหรือนำเครดิตภาษีซื้อ มาหักภาษีขายในเดือนถัดไปได้ หากในเดือนถัดไปเครดิตภาษีก็ยังมีเหลืออยู่ ก็สามารถนำไปหักในเดือนถัดไปได้อีก จนกว่าเครดิตภาษีมูลค่าเพิ่มที่เหลืออยู่จะหมดไป ทั้งนี้ใบกำกับภาษีสามารถนำไปใช้เครดิตภาษีได้ภายใน 6 เดือน นับจากเดือนถัดไปที่ระบุในใบกำกับภาษี         
  3. ในการจดทะเบียนนิติบุคคล ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องทำบัญชี ทุกเดือน ถ้าผู้ประกอบการมองว่าในช่วงเริ่มประกอบกิจการระยะแรก น่าจะมีรายได้ไม่ถึง 8 ล้านบาทอย่างแน่นอน หรืออาจจะใช้ระยะเวลานานหลายเดือนหรือเป็นปี กว่าจะมีรายได้จะถึง 1.8 ล้านบาท และผู้ประกอบการไม่ต้องการเป็นภาระในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มทุกเดือนหลังจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (เนื่องจากถ้ามีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มทุกเดือน) ผู้ประกอบการก็ยังไม่ต้องจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก็ได้ เนื่องจากการทำบัญชีรายรับรายจ่ายทุกเดือน  ผู้ประกอบการจะทราบว่ารายได้นั้นใกล้จะถึง 1.8 ล้านบาทหรือไม่ อย่างเช่น ถ้าผู้ประกอบการจดทะเบียนบริษัทไปเดือนมกราคม แล้วดำเนินกิจการไปถึงเดือนมิถุนายน และมีรายได้ถึง 1.5 ล้านบาทแล้วคาดว่าเดือนต่อไปคือกรกฎาคมรายได้จะถึง 1.8 ล้านบาทก็ให้ผู้ประกอบการยื่นจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ไว้ทันที เพื่อป้องกันการต้องชำระภาษีมูลค่าเพิ่มส่วนที่เกิน 1.8 ล้าน พร้อมเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม ถ้ามีรายได้เกิน 1.8 ล้าน แล้วยังไม่ได้จดภาษีมูลค่าเพิ่ม                   
  4. เมื่อผู้ประกอบการมีการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) แล้ว ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องบวกภาษีมูลค่าเพิ่มไปอีก 7% ของมูลค่าสินค้าและบริการ โดยต้องออกใบกำกับภาษีให้กับผู้ซื้อสินค้าและบริการ และต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) และชำระภาษีมูลค่าเพิ่มต่อสรรพากรทุกเดือน ทั้งนี้ผู้ประกอบการมีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภาษีซื้อ-ภาษีขาย) ทุกเดือน ไม่ว่าจะมีการซื้อ-ขายสินค้าหรือบริการหรือไม่ ถึงแม้ไม่มีรายการ คือเป็น 0 ก็ต้องยื่นแบบเปล่า เพราะถ้าหากผู้ประกอบการไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มจะมีเบี้ยปรับจากทางสรรพากร                                                        
  5. ถ้าผู้ประกอบการไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ผู้ประกอบการไม่สามารถเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือออกใบกำกับภาษีได้ และ มีความผิดตามกฎหมาย 
5/5 - (2 votes)