มือถือ: 094 864 9799



คำถามที่พบบ่อย

คำถามที่ถามบ่อย

คำถามที่พบบ่อย

การจดทะเบียนบริษัท กรณีมีชาวต่างชาติเป็น "กรรมการ" หรือ "ผู้ถือหุ้น"ชาวต่างชาติ ถือหุ้นในบริษัทไทยได้กี่เปอร์เซ็น?

ต่างชาติถือหุ้นได้ไม่เกิน 49% (คนไทยต้องถือหุ้นอย่างน้อย 51%)

กรณีชาวต่างชาติต้องการเป็น "กรรมการ" ต้องมีทุนจดทะเบียนเท่าไหร่?

ต้องมีทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาทขึ้นไป (เพราะการขอ Work Permit จะต้องมีทุนจดทะเบียน 2 ล้านบาท โดยมีพนักงานคนไทย 4 คน ต่อพนักงานต่างชาติ 1 คน ทั้งนี้ยกเว้นกรณีต่างชาติจดทะเบียนสมรสกับคนไทย ทุนจดทะเบียนจะลดลงเหลือกึ่งหนึ่งคือ 1 ล้านบาท แต่พนักงานคนไทยต้องมี 4 คนต่อพนักงานต่างชาติ 1 คนเท่าเดิม

กรณีชาวต่างชาติเป็น "กรรมการ" ของบริษัท ขั้นตอนการแสดงทุนจดทะเบียนต้องทำอย่างไร?

1. กรณีต่างชาติเป็น “กรรมการผู้มีอำนาจลงนาม” —> ผู้ถือหุ้นคนไทยต้องโชว์เงินกับให้ตรงกับจำนวนเงินที่นำมาลงทุนในหุ้นคือตามสัดส่วนที่ตนเองถือหุ้นอยู่
2. กรณีต่างชาติเป็น “กรรมการที่ไม่มีอำนาจลงนาม” —> ผู้ถือหุ้นคนไทยไม่ต้องโชว์เงิน (แต่ถ้ากรรมการที่ไม่มีอำนาจลงนามท่านนี้เป็นผู้ถือหุ้นด้วย ผู้ถือหุ้นคนไทยต้องโชว์เงิน)

กรณีที่มีชาวต่างชาติ เป็น "ผู้ถือหุ้น" ของบริษัท ต้องทำอย่างไร?

ผู้ถือหุ้นคนไทยจะต้องโชว์เงินให้สอดคล้องกับเงินที่นำมาลงทุนในหุ้น (ตามสัดส่วนที่ผู้ถือหุ้นคนไทยถือหุ้นอยู่) ไม่ว่าทุนจดทะเบียนเท่าใดก็ตาม โดยทั้งนี้ผู้ถือหุ้นชาวต่างชาติไม่ต้องโชว์เงิน ถึงแม้ชาวต่างชาติจะถือแค่เพียง 1 หุ้น ผู้ถือหุ้นคนไทยทุกคนก็ต้องโชว์เงินตามสัดส่วนที่ตนเองถือหุ้นอยู่

วิธีการแสดงเงินของผู้ถือหุ้นคนไทยต่อเจ้าหน้าที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าในกรณีมีต่างชาติถือหุ้น ตอนจดทะเบียนจะต้องทำอย่างไร?

ใช้หนังสือรับรองบัญชีเงินฝากที่ธนาคารออกให้เพื่อแสดงยอดเงินฝากธนาคารของผู้ถือหุ้น โดยหนังสือรับรองเงินฝากของผู้ถือหุ้นสามารถแสดงเงินฝากมากกว่าเงินลงทุนในกิจการตามสัดส่วนที่ตนเองถือหุ้นอยู่ได้ แต่ทั้งนี้ห้ามน้อยกว่า

ถ้าผู้ถือหุ้นเป็นคนไทย 100% จะต้องโชว์เงินหรือไม่?

โดยปกติถ้าผู้ถือหุ้นในบริษัทเป็นคนไทยทุกคนไม่ต้องโชว์เงินฝากธนาคาร ยกเว้นในกรณีที่ทุนจดทะเบียนเกิน 5 ล้านบาท ผู้ถือหุ้นคนไทยทุกคนต้องโชว์เงินฝากตามสัดส่วนที่ตนเองถือหุ้นอยู่ 

ชาวต่างชาติ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ สามารถเซ็นเอกสารตอนจดจัดตั้งบริษัทเลยได้หรือไม่?

ชาวต่างชาติสามารถเซ็นเอกสารได้เลย

ชาวต่างชาติ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจเซ็น จะต้องทำ Work Permit หรือไม่?

หลังจดทะเบียนบริษัทเสร็จแล้ว ชาวต่างชาติจะต้องทำ Work Permit เพราะในการเปิดบัญชีเงินฝาก โดยส่วนใหญ่ธนาคารจะขอ Work Permit ของชาวต่างชาติ

บริษัทจำกัดหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดที่จดทะเบียนภายใต้กฎหมายไทย หากมีคนต่างชาติเป็น "กรรมการบริษัท" หรือเป็น "หุ้นส่วนผู้จัดการ" จะทำให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนั้นมีสถานะเป็นต่างด้าวหรือไม่?

1. กรณีบริษัทจำกัด – การที่มีคนต่างชาติเป็นกรรมการบริษัทไม่มีผลทำให้บริษัทนั้นมีสถานะเป็นต่างด้าว หากจำนวนหุ้นข้างมากของบริษัทนั้นถือโดยคนไทยคือ 51% ขึ้นไป
2. กรณีห้างหุ้นส่วนจำกัดหรือห้างหุ้นส่วนสามัญ – หากมีชาวต่างชาติเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการจะทำให้ห้างหุ้นส่วนนั้นมีสถานะเป็นต่างด้าว ถึงแม้คนไทยจะลงทุนข้างมากในห้างหุ้นส่วนก็ตาม

ชาวต่างชาติสามารถถือหุ้น 100% ได้หรือไม่?

ถ้าเป็นโรงงานผลิต ไม่ว่าจะผลิตเพื่อจำหน่ายภายในประเทศ หรือส่งออกต่างประเทศ ต่างชาติสามารถถือหุ้นในบริษัทได้ 100% แต่กำหนดทุนจดทะเบียนขั้นต่ำต้องไม่น้อยกว่า 2 ล้านบาท โดยในกรณีทุนจดทะเบียนเกิน 5 ล้านบาท เมื่อจดทะเบียนบริษัทแล้ว กรรมการบริษัทจะต้องไปเปิดบัญชีธนาคารในประเทศไทย และนำเงินฝากเข้าบัญชีเท่ากับจำนวนทุนจดทะเบียนที่ชำระ อย่างเช่นทุนจดทะเบียน 100 ล้านบาท และชำระทุน 25% กรรมการจะต้องไปเปิดบัญชีธนาคาร และนำเงินฝากเข้าบัญชี 25 ล้านบาท และขอหนังสือรับรองเงินฝากจากธนาคารเพื่อนำไปยื่นต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้าภายใน 15 วันนับจากวันที่จดทะเบียนจัดตั้งบริษัท โดยการเปิดบัญชีบริษัทจะต้องให้กรรมการผู้มีอำนาจเป็นคนไปที่ธนาคารด้วยตัวเองเพื่อเปิดบัญชีค่ะ

ส่วนธุรกิจอื่นที่ไม่ใช่โรงงานผลิต ถ้าเป็นธุรกิจที่ BOI ส่งเสริมการลงทุน ลูกค้าสามารถขออนุญาตผ่าน BOI ซึ่งใช้เวลาพิจารณาประมาณ 4-6 เดือนสำหรับ BOI หรือ ขอ Foreign Business License ผ่านกรมพัฒนาธุรกิจการค้ากองต่างด้าว ถ้าธุรกิจที่คนต่างชาติต้องการทำเป็นธุรกิจในบัญชี 1 ของพรบ.ประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว จะเป็นธุรกิจ
ที่ตกอยู่ในบัญชีต้องห้ามไม่อนุญาตให้ต่างชาติทำ จึงไม่สามารถขอ FBL ได้ ส่วนถ้าธุรกิจอยู่ในบัญชี 2-3 จะสามารถยื่นขอ FBL ได้ ซึ่งจะได้รับอนุมัติหรือไม่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของกรรมการผู้พิจารณาใบประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว โดยใช้เวลาในการขอและพิจารณา FBL ประมาณ 4-6 เดือน

ในกรณีที่มีต่างชาติถือหุ้น ชำระทุนจดทะเบียน 25% คนไทยต้องโชว์เงินอย่างไร?

ตัวอย่าง ทุนจดทะเบียน 1,000,000 บาท ชำระทุน 25% เท่ากับ 250,000 บาท
สมมุติว่า คุณเอ สัญชาติไทย ถือหุ้น 60% ต้องโชว์เงินโดยให้ธนาคารออกหนังสือรับรองยอดบัญชีเงินฝาก = 250,000 X 60% = 150,000 บาท
คุณบี สัญชาติไทย ถือหุ้น 15% ต้องโชว์เงินโดยให้ธนาคารออกหนังสือรับรองยอดบัญชีเงินฝาก = 250,000 X 15% = 37,500 บาท ส่วนคนต่างชาติ Mr. C ถือหุ้นที่เหลือ 25% ไม่ต้องโชว์เงิน

ต้องการจดทะเบียน Joint Venture เพื่อไปประมูลงาน รายละเอียดเป็นอย่างไร?

Joint Venture มี 2 ประเภท คือ 1. แบบจัดตั้งนิติบุคคลใหม่ 2. ไม่จัดตั้งนิติบุคคลใหม่
– แบบจัดตั้งนิติบุคคลใหม่นั้นต้องไปจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า โดยเหมือนการจัดตั้งบริษัทโดยทั้งนี้ต้องมี ผู้ก่อการ 3 คน อย่างเช่น มีคนไทย 1 คน ต่างชาติ 2 คน ถือคนละ 1 หุ้น โดยผู้ถือหุ้นจะเป็นบริษัทต่างชาติถือหุ้นรวมผู้ก่อการคนต่างชาติได้ไม่เกิน 49% และบริษัทไทยและผู้ก่อการคนไทยต้องถือหุ้นขั้นต่ำ 51%

– แบบไม่จัดตั้งเป็นนิติบุคคลใหม่ จะเป็นการไปขอเลขประจำตัวผู้เสียภาษีกับสรรพากร เป็นเลขนิติบุคคลใหม่ โดยทั้งนี้ต้องมีสัญญา joint Venture ในการประกอบการจดทะเบียนกับทางสรรพากร ถือเป็นนิติบุคคลใหม่ภายใต้กฏหมายของสรรพากร ซึ่งในกรณีที่สองนี้ ต้องมีกำหนดระยะเวลาของ project เมื่อ project เสร็จสิ้นลง ต้องไปดำเนินการจดเลิกกับทางกรมสรรพากร 

การจดทะเบียน Joint venture จะเป็นการจดทะเบียนระหว่างนิติบุคคลกับนิติบุคคล หรือ นิติบุคคลกับบุคคลธรรมดามาร่วมลงทุนกัน แล้วจดนิติบุคคล (บริษัท) ขึ้นมาใหม่เป็นบริษัท Joint Venture

การจองชื่อนิติบุคคลเพื่อจัดตั้งบริษัทและห้างหุ้นส่วน

บุคคลใดที่เป็นผู้ยื่นขอจองชื่อนิติบุคคล?

การจองชื่อนิติบุคคลจะเป็นผู้ถือหุ้น หุ้นส่วนผู้จัดการในกรณีห้างหุ้นส่วน หรือกรรมการในกรณีบริษัทเป็นผู้ยื่นขอจองชื่อก็ได้ แต่ทั้งนี้บุคคลนั้นต้องเป็นผู้ลงนามในใบอนุมัติจองชื่อดังกล่าว

ชื่อนิติบุคคลที่ทำการจองแล้วได้รับการอนุมัติ มีอายุกี่วัน?

ต้องนำใบจองชื่อดังกล่าวไปดำเนินการจดทะเบียนนิติบุคคลให้เสร็จภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่อนุมัติชื่อที่จอง

จดทะเบียนห้างหุ้นส่วน

สถานที่รับจดทะเบียนห้างหุ้นส่วน

จดทะเบียนจัดตั้งห้างหุ้นส่วนที่ DBD สาขาไหนก็ได้ แต่ตอนแก้ไข/เพิ่มเติมรายการทางทะเบียน จะต้องไปจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงแก้ไข ณ จังหวัดที่ห้างหุ้นส่วนนั้นตั้งอยู่

ทุนจดทะเบียนห้างหุ้นส่วนขั้นต่ำเป็นจำนวนเงินเท่าไหร่?

การจดทะเบียนห้างหุ้นส่วน กฎหมายไม่ได้กำหนดทุนขั้นต่ำเอาไว้

รายละเอียดเกี่ยวกับ "ผู้เป็นหุ้นส่วน" ของห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล

1. ประกอบด้วยผู้เป็นหุ้นส่วนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป
2. ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนต้องรับผิดชอบร่วมกันในบรรดาหนี้สินของห้างหุ้นส่วนทั้งหมด โดยไม่จำกัดจำนวน ในระหว่างผู้เป็นหุ้นส่วนด้วยกันเองจะตกลงให้มีผู้เป็นหุ้นส่วนคนเดียวหรือหลายคนเป็นผู้จัดการของหุ้นส่วนก็ได้
3. ผู้เป็นหุ้นส่วนสามารถลงหุ้นได้ทั้งเงินสด ทรัพย์สิน และแรงงาน

รายละเอียดเกี่ยวกับ "ผู้เป็นหุ้นส่วน" ของห้างหุ้นส่วนจำกัด

1. ประกอบด้วยผู้เป็นหุ้นส่วนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป
2. มีหุ้นส่วน 2 จำพวก คือ
(1) หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด ได้แก่ ผู้เป็นหุ้นส่วนคนเดียวหรือหลายคน ซึ่งรับผิดตามจำนวนเงินที่ลงทุนในห้างหุ้นส่วนเท่านั้น
(2) หุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิด ได้แก่ หุ้นส่วนคนเดียวหรือหลายคน ซึ่งรับผิดในบรรดาหนี้สินทั้งหมดของห้างหุ้นส่วน โดยไม่จำกัดจำนวน
3. หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด ต้องลงหุ้นด้วยเงินหรือทรัพย์สิน ไม่สามารถลงหุ้นด้วยแรงงานได้
4. ผู้เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เป็นได้เฉพาะผู้เป็นหุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิดเท่านั้น

ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล และห้างหุ้นส่วนจำกัดจะต้องใช้ตราประทับในการจดทะเบียนหรือไม่?

1. ห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล จำเป็นต้องใช้ตราประทับในการจดทะเบียน เพราะ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1064 บังคับไว้
2. ห้างหุ้นส่วนจำกัด มีตราประทับหรือไม่มีก็ได้ เพราะ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1078 ไม่ได้บังคับไว้

ตราประทับจะต้องมีชื่อของนิติบุคคลหรือไม่?

ตราประทับอาจจะมีเพียงสัญลักษณ์เพียงอย่างเดียว หรือมีชื่อนิติบุคคล หรือมีทั้งสัญลักษณ์และชื่อของนิติบุคคลด้วยก็ได้ แต่ทั้งนี้ถ้ามีชื่อต้องเป็นชื่อที่ถูกต้องตามที่ได้รับการอนุมัติจากรมพัฒนาธุรกิจการค้าและตรงกับชื่อที่ขอจดทะเบียนนิติบุคคล  และมีคำขึ้นต้นและคำต่อท้ายโดยในกรณีชื่อภาษาไทย ถ้าเป็นห้างหุ้นส่วนต้องขึ้นต้นด้วยคำว่า “ห้างหุ้นส่วนจำกัด” หรือถ้าเป็นบริษัทต้องขึ้นต้นด้วยคำว่า “บริษัท”  และต่อท้ายด้วย คำว่า “จำกัด” ในกรณีชื่อเป็นภาษาอังกฤษ ถ้าเป็นห้างหุ้นส่วนต้องลงท้ายด้วยคำว่า “Limited partnership” หรือบริษัทต้องลงท้ายด้วยคำว่า “Company Limited หรือ Co.,Ltd.”

ห้างหุ้นส่วนและบริษัทสามารถจดทะเบียนโดยใช้ตราประทับมากกว่า 1 แบบได้หรือไม่?

ห้างหุ้นส่วนและบริษัทสามารถจดทะเบียนโดยใช้ตราประทับมากกว่า 1 ดวงได้  โดยระบุให้ชัดเจนว่าตราดวงใดใช้ในกรณีใด ในกรณีห้างหุ้นส่วนจะต้องจดทะเบียนแจ้งในรายการอื่นๆ ซึ่งเห็นสมควร

ห้างหุ้นส่วนจำกัด กรรมการ และผู้ถือหุ้น ควรถือหุ้นคนละกี่เปอร์เซ็นต์?

ห้างหุ้นส่วนจำกัด จะไม่มีกรรมการมีแต่หุ้นส่วนผู้จัดการ ห้างหุ้นส่วนจำกัดจะไม่มีหุ้น แต่จะเป็นเงินที่ลงทุนค่ะ ซึ่งแล้วแต่หุ้นส่วนแต่ละท่านตกลงกันว่าต้องการจะลงทุนเป็นจำนวนเงินเท่าใด
ทุนจดทะเบียนของห้างหุ้นส่วนจำกัด อาจจะไม่สูง เป็นจำนวนหลักหมื่นหรือหลักแสนก็ได้ โดยหลังจากจดจัดตั้งแล้วภายใน 12 เดือนก่อนปิดบัญชี จะต้องทยอยนำทุนเข้าบัญชีของห้างหุ้นส่วนจำกัด เช่น หากจดทะเบียนที่ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท จะต้องทะยอยนำเงิน 1 ล้านบาทเข้าบัญชีห้างหุ้นส่วนภายใน 12 เดือนนับจากจดจัดตั้งห้างหุ้นส่วน ซึ่งจะแสดงให้เห็นการชำระทุนในงบการเงินเมื่อมีการปิดรอบบัญชีค่ะ

จดทะเบียนบริษัท

สถานที่รับจดทะเบียนบริษัท

การจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทสามารถจดทะเบียนที่ DBD สาขาไหนก็ได้ แต่ตอนจดทะเบียนเปลี่ยนแปลงแก้ไข/เพิ่มเติมรายการทางทะเบียน จะต้องไปจดทะเบียนเปลี่ยนแปลง ณ จังหวัดที่บริษัทนั้นตั้งอยู่

ลักษณะของบริษัทจำกัด

1. ต้องมีผู้ร่วมลงทุนอย่างน้อย 3 คนขึ้นไปเป็นผู้เริ่มก่อการจัดตั้ง
2. ทุนของบริษัทจะแบ่งออกเป็นหุ้น หุ้นละเท่าๆ กัน
3. ผู้ถือหุ้นรับผิดจำกัดเพียงจำนวนเงินค่าหุ้นที่ยังชำระค่าหุ้นไม่ครบ
4. มูลค่าของหุ้น ต้องไม่ต่ำกว่า 5 บาท
5. หุ้นนั้นไม่สามารถแบ่งแยกได้

การจัดตั้งบริษัทจะต้องใช้ตราประทับในการจดทะเบียนหรือไม่?

บริษัทจำกัด มีตราประทับหรือไม่มีก็ได้ เพราะ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1111 ไม่ได้บังคับไว้

กรรมการบริษัทจะต้องมีกี่ท่าน?

กรรมการบริษัทต้องมีอย่างน้อย 1 ท่าน

ทุนจดทะเบียนขั้นต่ำกี่บาท?

บริษัทจำกัด ตามกฎหมายกำหนดมูลค่าหุ้นไม่น้อยกว่ากว่าหุ้นละ 5 บาท และต้องมีผู้ร่วมลงทุนเป็นผู้ก่อการ/ผู้ถือหุ้นอย่างน้อย 3 คน ฉะนั้นทุนจดทะเบียนขั้นต่ำสุดของบริษัท คือ 15 บาท ก็สามารถจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทได้แล้ว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นลูกค้าส่วนใหญ่ต้องการความน่าเชื่อถือ จึงจัดตั้งบริษัทที่ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท

ตอนจดจัดตั้งบริษัทต้องชำระทุนขั้นต่ำเป็นจำนวนเท่าไหร่?

ต้องชำระทุนขั้นต่ำไม่น้อยกว่า 25% ของทุนจดทะเบียนทั้งหมด

จดทะเบียนว่าชำระค่าหุ้นเต็มมูลค่าแล้ว จะขอเปลี่ยนเป็นชำระ 25% ได้หรือไม่?

ถ้าจดทะเบียนชำระค่าหุ้นเต็มมูลค่าแล้วจะไม่สามารถเปลี่ยนจำนวน % การชำระทุนให้น้อยลงได้

ผู้เยาว์เป็นผู้เริ่มก่อการได้หรือไม่?

ผู้เยาว์เป็นผู้เริ่มก่อการได้ แต่ต้องมีอายุ 12 ปีขึ้นไป และลงลายมือชื่อในคำขอจดทะเบียนบริษัทพร้อมทั้งเอกสารประกอบด้วยตัวเอง

ผู้เริ่มก่อการต้องเป็นผู้ถือหุ้นตอนตั้งบริษัทด้วยหรือไม่?

ผู้เริ่มก่อการทุกคนต้องเป็นผู้ถือหุ้นตอนตั้งบริษัทด้วย โดยต้องถือหุ้นอย่างน้อยคนละหนึ่งหุ้น

ผู้เริ่มก่อการต้องเป็นกรรมการของบริษัทด้วยหรือไม่?

ผู้เริ่มก่อการจะเป็นกรรมการหรือไม่เป็นกรรมการหรือไม่ก็ได้ โดยกรรมการจะเป็นผู้เริ่มก่อการ ผู้ถือหุ้น หรือเป็นบุคคลภายนอกที่ไม่ได้เป็นผู้เริ่มก่อการหรือผู้ถือหุ้นในบริษัทก็ได้ แต่กรรมการต้องมีอย่างน้อย 1 คน

การนับระยะเวลาลงโฆษณาเรียกประชุมใหญ่ผู้ถือหุ้น?

นับตั้งแต่วันถัดจากวันที่ลงพิมพ์โฆษณาในหนังสือพิมพ์ หรือ ถัดจากวันที่ส่งคำบอกกล่าวทางไปรษณีย์ตอบรับ ซึ่งเป็นวันที่ดำเนินการวันสุดท้าย และนับถอยกลับมาตามจำนวนที่กำหนดไว้ในข้อกฎหมาย
*หมายเหตุ การประชุมจะมีขึ้นได้ในวันถัดจากวันสิ้นสุดแห่งกำหนดระยะเวลานั้น

ประชุมมติทั่วไป ต้องลงโฆษณาก่อนอย่างน้อยกี่วัน และมติทั่วไปมีอะไรบ้าง?

ต้องลงโฆษณาไม่น้อยกว่า 7 วัน หรือตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ
1. การเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น
2. การเปลี่ยนแปลงกรรมการ หรืออำนาจกรรมการ
3. แก้ไขเพิ่มดวงตราสำคัญ
4. การแจ้งการจ่ายเงินปันผล ในกรณีมีหุ้นชนิดออกให้แก่ผู้ถือ
5. การชำระบัญชี
กรณีที่ 1 ประกาศนัดประชุมพิจารณางบการเงินและผู้ชำระบัญชี
กรณีที่ 2 ประกาศบอกกล่าวนัดประชุมเพื่อรายงานการชำระบัญชีและการจัดการทรัพย์สิน
6. เมื่อผู้ถือหุ้นมีจำนวนรวมกันไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าแห่งจำนวนหุ้นของบริษัทได้เข้าชื่อร้องขอให้เรียกประชุม

ประชุมมติพิเศษ ต้องลงโฆษณาก่อนอย่างน้อยกี่วัน และมติพิเศษมีอะไรบ้าง?

ต้องลงโฆษณาไม่น้อยกว่า 14 วัน หรือตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับ
1. การเปลี่ยนแปลงหนังสือบริคณห์สนธิ, การแก้ไขข้อบังคับของบริษัทฯ
2. การเพิ่มทุน
3. การแก้ไขชื่อและตราสำคัญบริษัทฯ
4. การแก้ไขที่ตั้งสำนักงานใหญ่ (กรณีข้ามจังหวัด)
5. การแก้ไขวัตถุประสงค์บริษัท
6. การเลิกบริษัท
กรณีที่ 1 ประกาศนัดประชุมผู้ถือหุ้น
กรณีที่ 2 ประกาศแจ้งความประสงค์จะเลิกบริษัทฯ
7. การควบบริษัทฯ
กรณีที่ 1 ประกาศนัดประชุมผู้ถือหุ้น
กรณีที่ 2 ประกาศแจ้งความประสงค์จะเลิกบริษัทฯ
8. การลดทุน
กรณีที่ 1 ประกาศนัดประชุมผู้ถือหุ้น
กรณีที่ 2 ประกาศแจ้งความประสงค์จะลดทุน
9. การประชุมผู้ถือหุ้น เมื่อบริษัทขาดทุนลงเกินกึ่งหนึ่งของทุน

ใช้คอนโดเป็นสถานที่ตั้งบริษัทได้หรือไม่?

สามารถใช้สถานที่ตั้งเป็นคอนโดจดทะเบียนบริษัทกับทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ แต่ไม่สามารถใช้สถานที่ตั้งเป็นคอนโดจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) กับทางสรรพากรได้ ดังนั้นถ้าจดทะเบียนบริษัทไปแล้วต้องการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มต้องไปดำเนินการจดเปลี่ยนแปลงสถานที่ตั้งย้าวไปที่อื่นที่ไม่ใช่คอนโดก่อน จึงจะสามารถจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ได้

การยื่นจดทะเบียนหนังสือบริคณห์สนธิและจดทะเบียนบริษัทพร้อมกันในวันเดียว ผู้มีอำนาจลงนามในคำขอ
จดทะเบียนคือผู้เริ่มก่อการหรือกรรมการ?

กรรมการผู้มีอำนาจ

(กรณีคนไทย) ถ้าทุนจดทะเบียนเกินกว่า 5 ล้านบาท และจะชำระครั้งแรก 25% ต้องโชว์เงินเท่าไหร่?

โชว์เงินตามจำนวนที่ชำระครั้งแรก 25% กล่าวคือ 5,000,000 x 25% = 1,250,000 บาท

ถ้ามีอายุไม่ถึง 20 ปีเป็นกรรมการบริษัทได้หรือไม่?

ไม่มีกฎหมายห้าม แต่เจ้าหน้าที่จะไม่รับจดทะเบียน (ดุลยพินิจ)

การชำระทุนด้วยทรัพย์สิน ต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง?

ต้องชี้แจงในใบสำคัญชำระเงินค่าหุ้นว่านำทรัพย์สินอะไรมาชำระ และต้องเตรียมรายงานการประชุม เพื่อให้ทาง DBD สอบด้วย (ปกติถ้าทุนจดตรวจเกิน 5 ล้านต้องมีให้ทาง DBD ตรวจ แต่ถ้าทุนไม่ถึง จะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าว่าจะขอดูหรือไม่ เพราะฉะนั้นควรจะทำเผื่อไว้จะเป็นการดีกว่า) หลังจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเสร็จเรียบร้อยแล้วต้องนำส่งหลักฐานการโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นๆให้ทาง DBD ตรวจสอบ ภายใน 90 วัน นับตั้งแต่วันที่จดทะเบียน

กรณีชำระทุนด้วยทรัพย์สิน ถ้ายังผ่อนทรัพย์สินนั้นไม่หมด สามารถนำมาชำระทุนได้หรือไม่?

ไม่สามารถนำทรัพย์สินที่ยังผ่อนอยู่นั้นมาชำระทุนได้ เพราะการชำระทุนด้วยทรัพย์สินจะต้องมีชื่อผู้ถือหุ้นเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์

แพ็คเกจ 3-4 จด VAT ออนไลน์ และจด VAT ที่สรรพากรต่างกันอย่างไรคะ?

จด VAT ทางออนไลน์ ทางเราจะดำเนินการยื่นจดทางออนไลน์ก่อน หลังจากนั้น 7-14 วัน จะมีเจ้าหน้าที่สรรพากรเข้าไปตรวจสถานประกอบการ หลังจากเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสถานประกอบการจึงจะทำการอนุมัติการจด VAT สรรพากรบางพื้นที่ไปตรวจหลังจากยื่นเอกสารทางออนไลน์ 3 วัน บางพื้นที่ 7-15 วัน แล้วแต่สรรพากรแต่ละพื้นที่ค่ะ ซึ่งการไปตรวจนั้นสรรพากรอาจจะแจ้งล่วงหน้า หรือไม่ก็ได้ (ถ้าแจ้งล่วงหน้าอาจจะแจ้งทางโทรศัพท์ หรือ Email)

ส่วนจด VAT ที่สรรพากร ทางเราจะนำเอกสารไปจดให้ที่สรรพากรในพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ค่ะ ถ้าเอกสารการจดทะเบียนผ่านการตรวจสอบแล้ว จะได้อนุมัติ ณ วันนั้นเลยค่ะ รวดเร็วกว่าเพราะไม่ต้องรอสรรพากรเข้าไปตรวจสถานที่ประกอบการ ถ้าลูกค้าไม่อยู่ออฟฟิศทุกวัน หรือใช้ออฟฟิศ แบบ Virtual office ขอแนะนำให้เลือกจดแบบที่ไปยื่นจดที่สรรพากรดีว่าค่ะ เพราะเมื่อสรรพากรเข้าไปตรวจแล้วไม่เจอลูกค้า ทางลูกค้าต้องไปพบและชี้แจงที่สรรพากรอีกครั้ง

จด VAT ไม่จด VAT ต่างกันอย่างไร?

จด VAT คือการจด ภาษีมูลค่าเพิ่มกับทางสรรพากรค่ะ โดยเมื่อลูกค้าจัดตั้งบริษัทใหม่ กฏหมายไม่ได้บังคับให้จด VAT ทันทีเลย แต่เมื่อใดที่รายได้ของลูกค้าถึง 1.8 ล้านบาท กฏหมายบังคับให้ต้องจด VAT ทันที ขณะเดียวกันถ้าดำเนินธุรกิจไปแล้วยังไม่จด VAT แล้วมีรายได้เกิน 1.8 ล้าน ลูกค้าจะต้องเสีย VAT พร้อมทั้งเบี้ยปรับเงินเพิ่มให้กับทางสรรพากรกรณีตัวอย่างเช่น ลูกค้าทำธุรกิจไปสัก 4-5 เดือน รายได้ถึง 2 ล้านแต่ยังไม่จด VAT ในส่วนที่เกินมา 2 แสนบาทลูกค้าต้องเป็นผู้จ่าย VAT เองเป็นเงิน 14,000 บาท พร้อมทั้งเบี้ยปรับเงินเพิ่มให้สรรพากร และจะต้องดำเนินการจด VAT เลยทันที และ VAT จำนวนเงิน 14,000 บาท ทางลูกค้าจะต้องเป็นผู้จ่ายเอง เนื่องจากก่อนหน้านั้นไม่ได้จด VAT และไม่ได้เรียบเก็บ VAT จากลูกค้าค่ะจะจด VAT เลยหรือไม่ มีสิ่งที่ลูกค้าต้องพิจารณา ได้แก่
1. ลูกค้าของเราส่วนใหญ่เป็นบุคคลธรรมดาหรือไม่ หรือเป็นนิติบุคคล เพราะถ้าเป็นบุคคลธรรมดาส่วนใหญ่จะไม่ต้องการ VAT การที่เราจด VAT ในตอนแรก ก็จะทำให้ราคาสินค้าเราแพงกว่าคนอื่น ร้อยละ 7 แต่ถ้าลูกค้าของเราเป็นนิติบุคคล อาจต้องการบิล VAT จากเราในการซื้อสินค้าและบริการกับเรา โดยต้องการ VAT ซื้อ มาหัก VAT ขาย เราอาจจำเป็นต้องจด VAT เลยทันที
2. ในกรณีที่ลูกค้ามีการซื้อสินค้าจากผู้ขายที่เป็น Supplier โดยที่ผู้ขายมีการจด VAT และขายสินค้าบวกภาษีมูลค่าเพิ่มมาให้ลูกค้าแล้วตั้งแต่แรกเริ่มจัดตั้งบริษัท ถ้าคุณลูกค้าจด VAT แล้วสามารถนำ VAT ซื้อมาหัก VAT ขายได้ค่ะ โดยถ้าเราไม่มี การขายเลยหรือขายน้อยกว่าซื้อ สามารถตั้งไว้เอามาหัก VAT ขายเมื่อมีการขายสินค้าหรือบริการบวก VAT และสามารถใช้ได้เดือนต่อไปได้ค่ะ
3. ในการจดทะเบียนนิติบุคคล ลูกค้าต้องทำบัญชี ทุกเดือน ถ้าคุณลูกค้ามองว่าในช่วงแรกๆ รายได้ ยังไม่ถึง 1.8 ล้านบาทในช่วงแรก ก็ยังไม่ต้องจดก็ได้ เพราะเราทำบัญชีรายรับรายจ่ายทุกเดือน เราจะทราบว่ารายได้เราใกล้จะถึง 1.8 ล้านหรือไม่ อย่างเช่น ถ้าคุณลูกค้า จดทะเบียนบริษัทไปเดือนนี้ แล้วดำเนินกิจการไปอีก 3-4 เดือน รายได้ถึง 1.5 ล้านแล้วมองว่าเดือนต่อไปจะถึง 1.8 ล้านก็ให้รีบจด VAT ไว้ทันที่เพื่อป้องกันการเสียเบี้ยปรับ เงินเพิ่มจากทางสรรพากรถ้า รายได้เกิน 1.8 ล้านบาทค่ะ
4. ถ้าคุณลูกค้าจด VAT แล้ว ต้องมีการบวกภาษีมูลค่าเพิ่มไปอีก 7% ของค่าสินค้าและบริการ โดยใบเสร็จต้องเป็น
ใบกำกับภาษี และต้องยื่น VAT กับทางสรรพากรทุกเดือน ทั้ง VAT ซื้อและ VAT ขาย ไม่ว่าจะมีการขายสินค้า (ออกบิล VAT) หรือไม่ หรือมีการซื้อสินค้าที่มี VATจากผู้ขาย (suppliers) หรือไม่ คือยื่น 0 ถ้าไม่ยื่นจะมีค่าปรับการไม่ยื่น เดือนละ 500 บาทค่ะ

หมายเหตุ : ถ้าลูกค้าไม่จด VAT ไม่สามารถเรียกเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือออกบิล VAT ได้นะค่ะ

สถานประกอบการต้องติดป้ายชื่อบริษัท เพื่อถ่ายรูปประกอบการยื่นจด VAT ป้ายชื่อนั้นต้องมีขนาดเท่าไหร่ และมี รูปแบบข้อบังคับหรือไม่?

เจ้าหน้าที่ไม่มีข้อจำกัดเรื่องขนาดค่ะ ทั้งนี้ขนาดที่เหมาะสมจะอยู่ที่ขนาด 100 x 25 ซม. โดยต้องเป็นป้ายที่มีลักษณะถาวร เช่น ป้ายอะคริลิค และมีชื่อบริษัทให้ครบถ้วนค่ะ เช่น บริษัท (ชื่อบริษัทภาษาไทย) จำกัด หากเป็นภาษาอังกฤษจะเป็น ชื่อบริษัทภาษาอังกฤษลงท้ายด้วย Company Limited หรือ Co., Ltd. ค่ะ 

อายุของผู้ถือหุ้น น้อยที่สุดเท่าไร และมากที่สุดเท่าไร กรรมการต้องอายุเท่าไร?

ผู้ถือหุ้นต้องมีอายุตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป โดยไม่ได้กำหนดอายุสูงสุดเท่าไร แต่ต้องมีบัตรประชาชนและสามารถเซ็นเอกสารในการจดทะเบียนบริษัทได้  ส่วนอายุกรรมการนั้น กฏหมายไม่มีข้อกำหนดเรื่องอายุ แต่ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ ต้องบรรลุนิติภาวะ คือมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์ ถ้าต่ำกว่า 20 ปีเจ้าหน้าที่จะไม่รับจดทะเบียน

หลังจดจัดตั้งนิติบุคล แล้วออกรถในชื่อบริษัท เพื่อลดหย่อนภาษี เงื่อนไขการลดหย่อนเป็นอย่างไร?

1) รถไม่เกิน 10 ที่นั่ง ในทางบัญชีหักค่าเสื่อมได้ทั้งหมดแบ่งเป็นระยะเวลา 5 ปี อย่างเช่น รถราคา 1,500,000 บาท หักเป็นค่าเสื่อมได้ทั้งหมด 1,500,000 บาท คิดเป็นปีละ 300,000 บาท ส่วนในทางภาษี สรรพากรให้หักได้สูงสุดไม่เกิน 1,000,000 บาทค่ะ เฉลี่ยต่อปีหักเป็นค่าใช้จ่ายได้ปีละ 200,000 บาท

ติดป้ายบริษัทสำหรับจด VAT ถ้ามีสาขาอื่น ต้องติดป้ายบริษัททั้งสำนักงานใหญ่และสำนักงานสาขาหรือไม่?

ควรจะต้องมีป้าบริษัทติดตั้งทั้งที่สำนักงานใหญ่และสำนักงานสาขาด้วย

ใบวางบิลกับใบแจ้งหนี้แตกต่างกันอย่างไร ไม่มีใบวางบิล มีแต่ใบแจ้งหนี้ได้ไหม?

ส่วนใหญ่ใบวางบิลใช้กับบริษัทใหญ่ที่ต้องให้เจ้าหนี้ไปวางบิล แล้วค่อยนัดรับเช็คอีกทีค่ะ ถ้าไม่มีใบวางบิลก็เป็น
ใบแจ้งหนี้ได้ค่ะ

บริษัทที่จดทะเบียนไปแล้วและออกหมายเลขใบหุ้นไปแล้ว แล้วจะนำส่ง บอจ.5 ใหม่ ในกรณีนี้ต้องลงประกาศหนังสือพิมพ์หรือไม่?

ไม่ต้องค่ะ

การชำระทุนจดทะเบียนเป็นอย่างไร ต้องมีเงินในบัญชีหรือไม่?

ในตอนจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้านั้น ถ้าผู้ถือหุ้นเป็นคนไทยทั้งหมด ทางกรมพัฒนาฯ จะไม่เรียกดูยอดเงินที่ต้องชำระทุน แต่ตอนปิดรอบบัญชีของกิจการ ซึ่งกฏหมายกำหนดไว้ว่าต้องปิดบัญชีภายใน 12 เดือนนับจากจดจัดตั้งนิติบุคคล บัญชีธนาคารของกิจการจะต้องแสดงการชำระทุนโดยการนำเงินเข้าบัญชีของกิจการอย่างน้อย 25% ในกรณีที่ชำระทุน 25% ตัวอย่างเช่น ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ต้องมีเงินนำเข้าบัญชีของกิจการ 250,000 บาท โดยเงินที่นำมาชำระทุนดังกล่าว สามารถเบิกถอนมาเป็นค่าใช้จ่ายของกิจการได้ เช่น ค่าเช่า ค่าจ้างพนักงาน เป็นต้น แต่ถ้ามีผู้ถือหุ้นเป็นคนต่างชาติ คนไทยหรือนิติบุคคลสัญญาไทย ต้องแสดงเงินว่ามีเงินฝากตามสัดส่วนที่คนไทยหรือนิติบุคคลไทยถือหุ้นอยู่ โดยให้ทางธนาคารออกหนังสือรับรองเงินฝากเพื่อแสดงต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ณ วันที่จดทะเบียนนิติบุคคลค่ะ

เอกสารใช้ประกอบยกเลิก ภพ. 20 บุคคลธรรมดา มีอะไรบ้าง?

1. สำเนา ภพ. 30 (ย้อนหลัง 12 เดือน)
2. สำเนา ภ.ง.ด. 90, 94 (ย้อนหลัง 3 ปี)
3. สำเนาใบ ภพ. 01
4. ใบ ภพ. 20 (ตัวจริง)

ถ้าจดทะเบียนบริษัท ทุน 30 ล้าน ค่าธรรมเนียมรัฐบาลเท่าไหร่คะ?

ไม่ว่าทุนจดทะเบียนเท่าไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายก็เท่าเดิมค่ะ แต่ทางผู้ถือหุ้นต้องมีหลักฐานทางการเงินแสดงว่ามีเงินตามจำนวนที่นำมาลงหุ้นค่ะ เนื่องจากกฏหมายกำหนดไว้ว่าถ้าทุนจดทะเบียนเกิน 5 ล้านบาท ผู้ถือหุ้นต้องแสดงเงิน ถ้าชำระ 100% ก็แสดง 5 ล้านบาท ถ้าชำระ 25% ก็แสดง 1,250,000 บาท โดยเอกสารเพิ่มเติมที่ผู้ถือหุ้นทุกท่านจะต้องส่งหลักฐานที่ธนาคารออกให้ เพื่อรับรองฐานะทางการเงินประกอบคำขอจดทะเบียน โดยเอกสารดังกล่าวจะต้องแสดงจำนวนเงินที่สอดคล้องกับจำนวนเงินที่นำมาลงหุ้นของผู้ถือหุ้นแต่ละราย คือหนังสือรับรองยอดเงินฝากที่ธนาคารออกให้

ผู้ถือหุ้นเป็นนิติบุคคล ได้หรือไม่?

เราสามารถใส่ชื่อนิติบุคคลเป็นผู้ถือหุ้นได้ค่ะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นตอนที่จดจัดตั้งต้องมีบุคคลธรรมดา 3 ท่านเป็นผู้เริ่มก่อการจัดตั้งค่ะ

จดทะเบียนบริษัทใช้เวลากี่วัน?

ระยะเวลานั้นขึ้นอยู่กับว่าเราได้ข้อมูลจากลูกค้าเร็วแค่ไหนค่ะ ถ้าได้ข้อมูลครบ เราจะใช้เวลาในการทำฟอร์ม 1-2 วัน ทำงาน หลังจากจะส่งเอกสารให้ลูกค้าเซ็น และจะนำไปยื่นจดที่ DBD ให้ภายใน 1-2 วันทำงานค่ะ

บริษัทที่เพิ่งจดทะเบียนเสร็จเรียบร้อย ยังไม่มีลูกจ้างหรือพนักงาน ต้องไปขึ้นทะเบียนนายจ้าง ที่สำนักงานประกันสังคมหรือไม่?

ยังไม่ต้องขึ้นทะเบียนประกันสังคม เมื่อมีลูกจ้างคนแรก ค่อยไปดำเนินการขึ้นทะเบียนนายจ้างภายใน 30 วันนับแต่วันที่มีลูกจ้างรายแรก

การย้ายสถานประกอบการ กรณีจด VAT (ย้ายต่างเขตต่างพื้นที่) ต้องทำอย่างไร?

การย้ายสถานประกอบการ (ย้ายต่างเขตต่างพื้นที่) จะต้องแจ้งย้ายกับ 3 หน่วยงาน ดังนี้
1. แจ้งย้ายออก ที่กรมสรรพากร พื้นที่ที่สถานประกอบการแห่งเก่าตั้งอยู่ ***ก่อนวันย้ายออกไม่น้อยกว่า 15 วัน
2. แจ้งเปลี่ยนแปลงที่อยู่กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
3. แจ้งย้ายเข้า ที่สรรพากรพื้นที่ที่สถานประกอบการแห่งใหม่ตั้งอยู่ ***ก่อนวันเปิดสถานประกอบการแห่งใหม่ไม่น้อยกว่า 15 วัน
4. แจ้งย้ายสถานประกอบการที่สำนักงานประกันสังคม (กรณีมีประกันสังคม)

การย้ายสถานประกอบการ กรณีจด VAT (ย้ายภายในเขตเดียวกัน) ต้องทำอย่างไร?

การย้ายสถานประกอบการ (ย้ายภายในเขตเดียวกัน) จะต้องแจ้งย้ายกับ 3 หน่วยงาน ดังนี้
1. แจ้งย้ายสถานประกอบการกับกรมสรรพากรพื้นที่ที่รับผิดชอบ
2. แจ้งเปลี่ยนแปลงที่อยู่กับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า
3. แจ้งย้ายสถานประกอบการที่สำนักงานประกันสังคม (กรณีมีประกันสังคม)

ข้อแตกต่างระหว่างการจดทะเบียนบริษัทและจดทะเบียนห้างหุ้นส่วน

    1. ความน่าเชื่อถือ
      บริษัทจำกัด : จะมีความน่าเชื่อถือ มากกว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด ถ้าผู้ประกอบการต้องการให้กิจการดูมีความน่าเชื่อถือต่อลูกค้าและคู่ค้า ควรจัดตั้งธุรกิจในรูปบริษัทจำกัด
      ห้างหุ้นส่วนจำกัด : จะมีความน่าเชื่อถือน้อยกว่าบริษัทจำกัด ภาพลักษณ์ของห้างหุ้นส่วนต่อลูกค้า คู่ค้า และบุคคลภายนอก จะเป็นธุรกิจในครอบครัวที่มีขนาดเล็ก
    2. จำนวนผู้ร่วมลงทุน (ผู้ก่อตั้ง)
      บริษัทจำกัด : จะต้องมีผู้เริ่มก่อการจัดตั้งบริษัท อย่างน้อย 3 คนเป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท และต้องมีกรรมการอย่างน้อย 1 คน ซึ่งจะเป็นผู้ถือหุ้นหรือไม่ก็ได้
      ห้างหุ้นส่วนจำกัด : จะต้องมีผู้เริ่มก่อตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดอย่างน้อย 2 คน
      โดยต้องมีผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนจำกัด 2 ประเภท คือ
      1. หุ้นส่วนจำกัดความรับผิด อย่างน้อย 1 คน ซึ่งรับผิดชอบตามจำนวนที่ลงทุนเท่านั้น
      2. หุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด ซึ่งต้องเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ อย่างน้อย 1 คน จะรับผิดไม่จำกัดจำนวน
    3. การลงทุน
      บริษัทจำกัด : ต้องกำหนดทุนจดทะเบียน โดยทุนจดทะเบียนจะแบ่งเป็นจำนวนหุ้น ซึ่งในแต่ละหุ้นจะมีมูลค่าเท่าๆกัน (โดยกฏหมายกำหนดราคามูลค่าหุ้นต้องมีมูลค่าไม่ต่ำกว่าหุ้นละ 5 บาท) ซึ่งทุนจดทะเบียนบริษัทนั้นผู้ร่วมหุ้นจัดตั้งบริษัท สามารถกำหนดได้ตามที่ต้องการใช้เงินลงทุนในธุรกิจ และมีเงินที่จะชำระทุนจริง แต่ทั้งนี้ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ต้องการความน่าเชื่อถือ จึงจัดตั้งบริษัทที่ทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท (ซึ่งกฎหมายบังคับให้ชำระทุนขั้นต่ำ 25% ของทุนจดทะเบียน)
      บริษัทจำกัด ต้องปิดรอบบัญชีของกิจการในรอบแรก ไม่เกิน 12 เดือนหลังจากจัดตั้ง และปิดบัญชีรอบนั้นทุก 12 เดือน และในงบการเงินต้องแสดงให้เห็นว่า บัญชีธนาคารของกิจการมีการชำระทุนโดยการนำเงินทุนฝากเข้าบัญชีของกิจการอย่างน้อย 25% ตามการแจ้งชำระทุนขั้นต่ำในตอนจดทะเบียน
      ห้างหุ้นส่วนจำกัด : ไม่มีทุนขั้นต่ำเมื่อจดทะเบียน และเงินลงทุนไม่ได้แบ่งเป็นจำนวนหุ้นเหมือนบริษัทจำกัด ผู้เป็นหุ้นส่วนที่จะมาลงทุนในการจัดตั้งห้างหุ้นส่วน สามารถกำหนดได้ตามที่ต้องการใช้เงินลงทุนในธุรกิจ และตามความประสงค์ของหุ้นส่วนแต่ละท่านที่ตกลงกันจะลงทุนเป็นจำนวนเงินเท่าใด
    4. หน้าที่ในการนำส่งงบการเงิน
      บริษัทจำกัด : มีหน้าที่ต้องปิดบัญชีอย่างน้อย 1 ครั้งทุกรอบ 12 เดือนโดยการปิดบัญชีครั้งแรกต้องปิดบัญชีภายใน 12 เดือนนับจากจดจัดตั้ง และผู้ถือหุ้นอนุมัติงบการเงินภายใน 4 เดือนหลังจากทำงบการเงินเสร็จเรีบร้อยและนำส่งงบการเงินที่ตรวจสอบบัญชีให้แก่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าภาย 1 เดือนหลังจากอนุมัติ และยื่นเสียภาษีภายใน 150 วัน นับจากวันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี
      ห้างหุ้นส่วนจำกัด : มีหน้าที่ต้องปิดบัญชีอย่างน้อย 1 ครั้งทุกรอบ 12 เดือนโดยการปิดบัญชีครั้งแรกต้องปิดบัญชีภายใน 12 เดือนนับจากจดจัดตั้ง โดยต้องนำส่งงบการเงินที่ตรวจสอบบัญชีให้แก่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าภายใน       5 เดือนหลังจากปิดบัญชี และยื่นเสียภาษีภายใน 150 วัน นับจากวันสิ้นรอบระยะเวลาบัญชี
    5. ค่าธรรมเนียมรัฐบาล ค่าอากรแสตมป์ รวมคัดหนังสือรับรองบริษัทจำกัด/ห้างหุ้นส่วน
      บริษัทจำกัด : 6,360 บาท
      ห้างหุ้นส่วนจำกัด : 1,460 บาท
    6. ความรับผิดชอบในหนี้สิน
      บริษัทจำกัด : ผู้ถือหุ้นทุกคนจะรับผิดชอบในส่วนที่ตนเองลงทุนในหุ้นที่ยังชำระทุนยังไม่ครบเท่านั้น ส่วนกรรรมการของบริษัท จะเป็นผู้รับผิดชอบในบริษัทโดยไม่จำกัด
      ห้างหุ้นส่วนจำกัด :
      – หุ้นส่วนจำกัดความรับผิด รับผิดชอบตามจำนวนที่ลงทุนเท่านั้น
      – หุ้นส่วนไม่จำกัดความรับผิด ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จะรับผิดไม่จำกัดจำนวน
    7. อัตราภาษี
      ทั้งบริษัทจำกัดและห้างหุ้นส่วนจำกัด มีหน้าที่ในการยื่นและชำระภาษีไม่แตกต่างกัน ซึ่งเป็นอัตราภาษีก้าวหน้า
    8. ระยะเวลา
      ในการจัดตั้งบริษัทจำกัดและห้างหุ้นส่วนใช้ระยะเวลาไม่แตกต่างกัน

สนใจบริการงานด้านจดทะเบียน

ติดต่อ: บริษัท กรีนโปร เคเอสพี คอนซัลติ้ง จำกัด
ที่อยู่ 43 อาคารไทยซีซีทาวเวอร์ ชั้น 11 ห้องเลขที่ 111 ถนนสาทรใต้ แขวงยานนาวา เขตสาทร กรุงเทพมหานคร 10120
โทร: 094-864-9799
LINE ID: @greenproksp

เพิ่มเพื่อน


E-mail:
greenproksp.th@gmail.com

5/5 - (3 votes)